top of page
Writer's pictureNEO Academy

ซัพพลายเชนแห่งอนาคต ไร้โกดัง ไร้สต็อกของ

Updated: Jan 27, 2021

เชื่อหรือไม่ หากในอนาคตอันใกล้นี้ หลังบ้านของธุรกิจจะมีการบริหารจัดการสินค้าสุดฉลาดล้ำ ไปจนถึงขั้นไม่มีการสต๊อกสินค้า และโกดังใหญ่โตมโหฬารจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ขอต้อนรับเข้าสู่โลกใหม่

No Inventory, No Warehouse


ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์​ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเจ็บปวดในอดีตของคนทำมาค้าขาย คือการต้องผลิตหรือสั่งของมาจำนวนมาก ทุ่มทุนไปจำนวนมหาศาลให้หน้าร้านมีสินค้าพร้อมรับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจขายเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ต้องมีทุกสีทุกไซส์ แล้วค่อยมาเก็บข้อมูลในภายหลังว่าลูกค้านิยมสินค้าประเภทไหน (SKU ใดขายดีที่สุด) จึงค่อย ๆ ปรับปริมาณของในร้านกันไป แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องยอมต้นทุนจมกับสินค้าบางประเภท ยิ่งเป็นธุรกิจที่ทำมานานนับสิบปี อาจต้องจมอยู่กับสินค้าที่ตกยุคสมัยไปแบบไม่มีวันหวนกลับ นอนนิ่งอยู่ในมุมลึกสุดของโกดัง


"เคยมีผู้บริหารธุรกิจร้อยล้านท่านหนึ่งยอมรับว่า เพิ่งได้คำนวณต้นทุนของการเก็บสินค้าไว้ ทั้งค่าเช่าโกดัง ค่าแอร์ ค่าจ้างคนเฝ้าโกดัง ปรากฏว่าเงินที่เสียไปในหลายปีที่ผ่านมาสูงกว่ามูลค่าของในโกดังเสียอีก พูดง่ายๆคือหากนำของเหล่านี้ไปบริจาคเสียแต่ทีแรกยังจะคุ้มกว่า"


ในช่วงหลังที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเฟื่องฟู เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพแนวใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า ธุรกิจ Fulfillment บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกเพื่อธุรกิจค้าขายออนไลน์ในเรื่องของพื้นที่จัดเก็บสินค้า การแพ็คสินค้า และการจัดส่งสินค้า สำหรับผู้ขายที่ไม่สะดวกสต๊อกสินค้า มีเวลาไม่มากพอสำหรับการแพ็คออเดอร์ และจัดส่งสินค้าด้วยตนเองเมื่อมียอดขายมาก เป็นการบริหารจัดการเรื่อง โลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่ต่ำลง นับว่าเป็นการนำศาสตร์ของการบริหารจัดการ มาบวกกับนวัตกรรม Cloud Computing คำนวณสต็อกแบบเรียลไทม์ เกิดการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไรก็ตาม วงการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เป้าหมายสูงสุดคือการลดการสูญเสียระหว่างทางให้ได้มากที่สุด และไม่มีอะไรจะดีไปกว่า "การผลิตของออกมาทุกชิ้น ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และส่งตรงถึงมือด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด"


คุณพจมาน ภาษวัธน์ ประธานชมรมวิชาชีพซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ไทย (TSCMP) และอาจารย์ NEO Academy หลักสูตร Innovative Supply Chain & Logistics Management กล่าวว่า ความฝันนี้ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้เราทราบได้ทันทีว่าผู้บริโภคต้องการอะไรก่อนที่จะถึงหน้าร้านเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบนโลกโซเชียลมีเดียหรือบน Search Engine ที่ผู้บริโภคค้นหา ใน Smart Phone ที่เชื่อมกับ Smart Wearable Device บอกพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ 24 ชั่วโมง ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถเสกสินค้าให้ตรงความต้องการผู้บริโภคได้ เป็นการทำ Customization โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวเลย และความฉลาดไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ผู้ผลิตในอนาคตสามารถครอบงำให้ผู้บริโภคเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง โดยใช้ Big data โน้มน้าวให้ผู้บริโภคเลือกสิ่งที่ผลิตอยากนำเสนอ


"หากคุณกำลังเดินไปซื้อสลัดหนึ่งถ้วย คุณชื่นชอบน้ำสลัดครีม แต่ทางร้านมีข้อมูลสุขภาพของคุณครบถ้วน (ทางร้านอาจไปเชื่อมข้อมูลกับ Google ที่เพิ่งปิดดีลซื้อ Fitbit มาได้สำเร็จ) ทำให้ร้านเห็นพฤติกรรมและข้อมูลโภชนาการของคุณมาโดยตลอด มันกำลังแสดงผลว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ทางร้านจึงแนะนำด้วยความหวังดีว่า คุณควรทานสลัดน้ำใส และคุณก็ซื้อสลัดน้ำใสไปในที่สุด เบื้องหลังคือทางร้านได้เตรียมสลัดน้ำใสไว้รอพร้อมแล้ว และไม่มีสลัดครีมอยู่เลย"


นี่คือโลกแห่งอนาคตของคำว่า No Inventory, No Warehouse และยังทำให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจได้ประโยชน์ถ้วนหน้า หรือหากคุณคิดว่ายังยืนยันที่จะสั่งสลัดครีม คราวหน้าทางร้านก็พร้อมเตรียมผลิตสลัดครีมให้คุณรอไว้แล้ว



ปัจจุบันความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีต่อระบบซัพพลายเชนและ โลจิสติกส์เป็นสิ่งจำเป็นมาก NEO Academy โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เริ่มเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารนวัตกรรมโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ (Mini MBA: Innovative Supply Chain & Logistics Management) ในรูปแบบ Interactive Online สำหรับบุคคลทั่วไปหรือนักธุรกิจที่สนใจ เพื่อผสมผสานศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ มาประยุกต์ใช้ในวงการโลจิสติกส์ หัวข้อที่มีการเรียนการสอน นอกจากเรื่องของนวัตกรรมโซ่อุปทานและเครืองมือการวางแผนเพื่อการจัดการแล้ว ยังมีการทำเวิร์คชอปวางแผนการบริหารจัดการสินค้าและขนส่ง โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทชั้นนำของไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.neobycmmu.com/mini-mba-supply-chain-logistics



159 views0 comments

Comments


bottom of page