top of page
Writer's pictureNEO ACADEMY

Financial Feasibility Canvas เครื่องมือที่จะช่วยประเมินว่าโมเดลธุรกิจในมือจะรอดหรือล้ม

Updated: May 14


Financial Feasibility Canvas เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ไม่ได้ตัดสินใจลงทุนทุกอย่างด้วยประสบการณ์ส่วนตัว หรือความรัก ความชอบในสินค้าหรือบริการที่ต้องการจะลงทุนเพียงอย่างเดียว ช่วยให้ผู้ประกอบการประเมินได้อย่างแม่นยำว่าธุรกิจที่กำลังวางแผนอยู่นั้นคุ้มค่าในการลงทุนมากน้อยเพียงใด



Financial Feasibility Canvas พัฒนาขึ้นโดย ดร.วสุ กีรติวุฒิเศรษฐ์ จากคณะบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ อาจารย์ด้านนวัตกรรม และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ วิทยาลัยการ​จัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งคู่ได้ร่วมกันต่อยอดเครื่องมือนี้ขึ้นมาเป็นส่วนเสริมของ Business Model Canvas ซึ่งเน้นคุณค่าและการประเมินข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ แต่ Financial Feasibility Canvas จะลงลึกถึงการลงทุนที่ว่ากันด้วยตัวเลข และสมมติฐานที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลตามความเป็นจริง

ช่องที่ 1: เหตุผลในการลงทุน (Investment Rationale)

“โอกาสสำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่นี้คืออะไร?”

เหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ของคุณคืออะไร คำถามนี้เป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและแม่นยำเกี่ยวกับเหตุผลในการลงทุน จะส่งผลต่อสมมติฐานที่ถูกต้อง นำไปสู่การคำนวณความเป็นไปได้ที่แม่นยำยิ่งขึ้นต่อไป ผู้ประกอบการต้องเขียนออกมาได้อย่างชัดเจน ผ่านความเข้าใจข้อมูลทางการตลาดที่ศึกษามาอย่างลึกซึ้ง เช่น ธุรกิจนี้มีความน่าลงทุนอย่างไร คู่แข่งเป็นอย่างไร ส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยเพียงใด การวิเคราะห์คู่แข่ง ความต้องการ การคาดการณ์การขาย ตอบคำถามให้ได้ว่า "โอกาสสำหรับธุรกิจใหม่นี้คืออะไร"


ช่องที่ 2: การลงทุน (Capital Investment)

คุณจำเป็นต้องใช้เงินมากแค่ไหนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจนี้?

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขนาดการลงทุนเพื่อให้ประมาณการลงทุนในช่วงเริ่มแรกได้ รวมถึงประเมินความต้องการเงินทุนหมุนเวียน โดยจำเป็นต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น การเปิดร้านขายอาหาร จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ค่าเช่าอาคารเป็นอย่างไร ต้องมีคนครัวกี่คน พนักงานเสิร์ฟกี่คนจึงจะพอดีกับขนาดการลงทุนที่ตั้งเป้าไว้ ต้องคิดให้รอบคอบถ้วนถี่ รวบรวมข้อมูลให้ครบตั้งแต่ต้น ตอบคำถามให้ได้ว่า “ธุรกิจใหม่ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่”



ช่องที่ 3: สมมติฐาน (Assumptions)

ต้นทุน รายได้ และมูลค่าของธุรกิจนี้คืออะไร

ประมาณการยอดขาย และประมาณการต้นทุนของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ต้องอาศัยวิจารณญาณและการรวบรวมข้อมูลแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงจินตนาการและการคาดการณ์ของหน่วยขาย โดยอาจใช้ค่าเฉลี่ยจากข้อมูลในอดีต เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องคิดให้ครบและละเอียด แม้จะเป็นการประมาณการขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นราคาขายเฉลี่ย ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ลืมเผื่อใจถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่เลือกใช้ด้วย เพื่อตอบคำถามถึงตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่นี้



ช่องที่ 4: กระแสเงินสด (Cashflow)

กระแสเงินสดของธุรกิจนี้เป็นอย่างไร?

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ นั่นคือการคำนวณกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้เพื่อประเมินความเป็นไปได้สำหรับธุรกิจใหม่ดังกล่าว โดยกระแสเงินสดของโครงการ ควรรวมค่าเสียโอกาส รวมผลข้างเคียง รวมเงินทุนหมุนเวียน รวมภาษี โดยคำนวณเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานประจำวันเข้าไปด้วย

ขั้นตอนนี้ให้ตัวเลขที่สำคัญสำหรับขั้นตอนต่อไป และเปลี่ยนจุดเน้นจาก “กำไรสุทธิ” เป็น “กระแสเงินสด” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเงินของธุรกิจได้


ช่องที่ 5: ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Returns)

อะไรคือผลตอบแทนจากโครงการและความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับธุรกิจนี้?

การวิเคราะห์ผลตอบแทนโครงการทำได้หลายวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจลงทุนจะเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ผู้ประกอบการ โดยนำกระแสเงินสดที่คำนวณไว้มาใช้พิจารณาระดับความเสี่ยง โดยเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานหลักที่มีต่อผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจ เช่น ต้นทุนต่อหน่วย ราคาขายและความต้องการของตลาด เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจใหม่นั้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งจะมีตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือทางการเงิน (Financial Model) ที่สำคัญ เช่น มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period และ ดัชนีการทำกำไร (Profitability Index)



ช่องที่ 6: การตัดสินใจของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Decision)

คุณจะทำธุรกิจนี้หรือไม่?

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การสรุปข้อมูลสำคัญ ตัวเลขและคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการตัดสินใจ ข้อกังวลหลักๆ เช่น ความเสี่ยง และระดับความเสียหายที่คำนวณได้จากสมมติฐานต่างๆ จะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร ขั้นตอนนี้จะทำหน้าที่เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการจัดตั้งธุรกิจต่อไป

ในกรณีที่ปฏิเสธการลงทุน FFC จะเข้าสู่รอบถัดไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการตัดสินใจตรวจสอบต้นทุน รายได้ และตัวเลขเหล่านั้นอีกครั้ง โอกาสนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับแต่งธุรกิจของตนให้เหมาะสมที่สุด และผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด

โดยสรุปคือ Business Model Canvas นั้นยังไม่อาจคาดการณ์ความเป็นไปได้ทางการเงินที่ละเอียดมากพอ จะให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดคือการนำมาใช้คู่กับ Financial Feasibility Canvas ที่ประเมินกระแสเงินสด และความเสี่ยงในการทำธุรกิจอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น


เพราะแม้ธุรกิจของคุณจะเริ่มต้นด้วยใจที่มุ่งมั่น แต่ความคุ้มค่าในการลงทุนนั้นต้องพิสูจน์กันด้วยตัวเลข หากอยากรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือทางธุรกิจดีๆ แบบนี้อย่างละเอียด NEO ACADEMY มี 2 หลักสูตร ที่จะสอนวิธีใช้งาน Financial Feasibility Canvas ได้แก่

หลักสูตร Mini MBA: FINANCE FOR NON-FINANCE MANAGERS


หลักสูตร Mini MBA: New Business Development & Feasibility Analysis


ดาวน์โหลด Financial Feasibility Canvas https://www.neoacademy.pro/download-financial-feasibility-canvas

แหล่งอ้างอิง: Financial Feasibility Canvas เป็นส่วนหนึ่งจากบทความวิชาการ

Keerativutisest, V., & Promsiri, T. (2021). FINANCIAL FEASIBILITY CANVAS (FFC) : EXTENDING THE BUSINESS MODEL CANVAS AS A METHOD TO TEACH FINANCIAL FEASIBILITY STUDY IN ENTREPRENEURIAL FINANCE. Academy of Entrepreneurship Journal, 27, 1-14. https://www.proquest.com/openview/14affd9f3093d32245136a4fdfae7c6f/1?pq-origsite=gscholar&cbl=29726

2,553 views0 comments

Kommentarer


bottom of page