คีย์เวิร์ดเทรนด์อนาคตของการตลาดดิจิทัล ปี 2022
เตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลได้ตั้งแต่ตอนนี้ ด้วยการทำความรู้จักคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะช่วยทำให้แคมเปญออนไลน์ได้ผลดียิ่งกว่าเดิม
1. No-Click Searches
ค้นแบบไม่ต้องคลิก ด้วย No-click Searches หรือ Zero-click Searches ซึ่งเป็นการค้นหาข้อมูลจาก Google ที่แสดงผลข้อมูลในหน้าเดียวกับที่ผู้ใช้งานพิมพ์ข้อความค้นหาทันที (SERP) ตอบคำถามคาใจแบบทันทีทันควันไม่ต้องอารัมภบทยืดยาว เช่นเมื่อเราอยากรู้เวลาเปิดปิดทำการของสถานที่ท่องเที่ยวสักแห่ง เพียงพิมพ์ชื่อสถานที่ ตามด้วยคำเวลาทำการ ข้อมูลที่ต้องการก็จะปรากฏขึ้นทันที Search Engine Journal ให้ข้อมูลว่ากว่า 34.4% ของผลกรค้นหาด้วยคอมพิวเตอร์ จะเป็น No-click Searches และผู้ใช้งานค้นหาผ่านสมาร์ทโฟน 62.5% ไม่กดลิงก์เข้าไปอ่านต่อ
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าการใช้งาน Search Engine ของคนในปัจจุบันนั้นไม่ได้เพียงต้องการหาข้อมูลด้วยการอ่านบทความอันยืดยาว แต่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่คอยหาคำตอบข้อสงสัย เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกร้านอาหาร วางแผนการเดินทาง ตรวจสอบค่าเงินเมื่อจะช้อปปิ้งสินค้าจากต่างประเทศ นับว่าเป็นเทรนด์การใช้งานค้นหาข้อมูลที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และจะยังคงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างของ No-click Searches สรุปได้เป็น 3 รูปแบบที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ Database-style searches แสดงผลเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานเช่น วันสำคัญ เวลาในประเทศต่าง ๆ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อายุบุคคลสำคัญ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ฯลฯ Dictionary and encyclopedia-style searches: แสดงผลเกี่ยวกับนิยามของสิ่งต่าง ๆ คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คล้ายการทำงานของสารานุกรม และสุดท้าย Map direction-style searches แสดงผลการค้นหาสถานที่ที่ต้องการซึ่งอยู่ในระยะใกล้เคียง ด้วยการพิมพ์ชื่อประเภทสถานที่แล้วตามด้วยคำว่า “ใกล้ฉัน (near me)”
วิธีการที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของคุณขึ้นไปเป็น No-click Searches นั้นยังคงสัมพันธ์กับการทำ SEO ที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ตอบคำถามที่อาจจะมีคนสงสัยไว้ให้ได้มากที่สุด คัดสรรชื่อหัวข้อบทความที่กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ แต่มีคำสำคัญที่ผู้ใช้งานสนใจครบถ้วน และเลือกใช้ Google My Business เพื่อเพิ่มข้อมูล คัดเลือกภาพสวย ๆ เกี่ยวกับธุรกิจเข้าไปด้วยตัวเอง
2. Google Verified Listings Google My Business เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ฟรีและมีประโยชน์กว่าที่คิดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่อยากมีพื้นที่ในโลกออนไลน์มากขึ้น เมื่อลงทะเบียนใช้งาน Google My Business และกรอกข้อมูลอย่างครบถ้วนแม่นยำแล้ว จะทำให้มีหมุดที่แน่ชัดใน Google Maps จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ ต่อลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าหรือบริการมาช่วยแก้ปัญหาของพวกเขา และประหยัดเวลาในการค้นหาที่ตั้งของที่ทำการธุรกิจ สำหรับลูกค้าที่จะเดินทางมาใช้บริการ ไปจนถึงไม่ต้องเสียเวลาไปกับการโทรศัพท์บอกทางพนักงานส่งเอกสารด้วย
การกรอกข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลาทำการ เวลาเปิดปิด ลิงก์เว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจ และรีวิวของผู้ใช้งานจะช่วยให้ผู้ใช้งานที่ผ่านมาพบเห็นสามารถเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้อย่างง่ายดาย และเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงควรเข้าไปเป็น Google Verified Listings เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้มากกว่า และป้องกันการมีผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แสดงตัวเป็นเจ้าของ
3. Voice Search
การค้นหาข้อมูลผ่านเสียง เป็นเทคโนโลยีได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Alexa, Siri , Cortana และ Google Voice Search กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นเพื่อนคู่คิดในชีวิตประจำวันทั้งผ่านอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมารองรับการสั่งงานด้วยเสียงโดยเฉพาะและการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ข้อมูลจากการสำรวจของ Tech Crunch ในปี 2020 พบว่าหลังการระบาดของโควิด 19 ผู้ใช้งาน Smart Speakers อายุระหว่าง 18-34 ปี ให้ข้อมูลว่าตนเองใช้งาน Smart Speakers สำหรับความบันเทิงมากขึ้น 52% และในปี 2020 ยอดขายของ Amazon Echo powered by Alexa ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 74% เลยทีเดียว
เมื่อเปลี่ยนมาใช้เสียงค้นหาข้อมูล พบว่าผู้ใช้งานจะใช้ประโยคที่ไม่เป็นทางการ และใช้คำที่ยาวกว่าการพิมพ์ลงในช่องค้นหาโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น การพูดว่า “ร้านเสริมสวยที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน” ในขณะที่เมื่อพิมพ์ข้อความ เราจะใช้เพียง “ร้านเสริมสวย ใกล้ฉัน” หรือ ร้านเสริมสวย ตามด้วยชื่อย่านที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นว่าเมื่อเครื่องมือเปลี่ยน คำค้นหาก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อนักการตลาดดิจิทัลวางทิศทางการผลิตเนื้อหา จึงต้องไม่ลืมที่จะกำชับนักเขียนให้เลือกใช้คำสำคัญที่อยู่บนพื้นฐานของคำถามที่คนมักใช้กับการค้นหาข้อมูลผ่านเสียง เพื่อทำให้สินค้าและบริการที่กำลังทำการตลาดอยู่นั้นมีผู้ค้นพบมากขึ้น
4. Visual Search
ค้นข้อมูลจากภาพ ด้วยการอัปโหลดภาพเข้าไปในระบบการค้นหา เพื่อให้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์และหาผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพนั้นขึ้นมา เป็นตัวช่วยที่กำลังมาแรงสำหรับการค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวหนังสืออีกต่อไป ขณะที่คุณกำลังชมซีรีส์เรื่องโปรดแล้วเกิดถูกใจโซฟาในบ้านพระเอกก็สามารถใช้เครื่องมือ Visual Search สำหรับตามหาแบรนด์โซฟา พร้อมราคาได้โดยไม่ต้องตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ดเหมือนแต่ก่อน
ปัจจุบันมี Google Lens ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Image Recognition ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยระบุวัตถุที่ปรากฏในภาพ และค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แต่มั่นใจได้เลยว่าจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาอีกแน่นอน เพราะ Visual search มีแต่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 62% ของมินเลนเนียลชื่นชอบการค้นหาสินค้าด้วยภาพ เนื่องจากมินเลนเนียลรวมไปถึงเจน Z นั้นคุ้นเคยดีกับ Visual Culture ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านภาพเป็นหลัก
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนักการตลาดดิจิทัลที่จะต้องสื่อสารด้วย Key Visual ที่โดดเด่นมากพอจะสื่อ “สาร” ที่ต้องการนำเสนอออกไปได้อย่างชัดเจน
5. Online Reviews
รีวิวนั้นสำคัญแค่ไหน ใคร ๆ ก็รู้ ยิ่งการซื้อสินค้าออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งส่งผลให้รีวิวทวีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลวิจัยจาก Neilson ใน Global Trust in Advertising and Brand Messages ยิ่งตอกย้ำประโยคข้างต้นที่กล่าวมา เพราะกว่า 94% ของผู้บริโภคในเอเชียเชื่อคำแนะนำจากเพื่อน หรือคนรู้จัก 76% ของผู้บริโภคให้น้ำหนักกับความคิดเห็นของผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์คนอื่น ๆ บนโลกออนไลน์ เทียบกับจำนวนผู้ที่เชื่อโฆษณาของแบรนด์ในโซเชียลมีเดียมีเพียงแค่ 42% เท่านั้น
นอกเหนือจากแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนมักเลื่อนอ่านรีวิวกันอย่างจริงจังแล้ว Google Business หรือแฮชแท็กในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ก็เป็นอีกจุดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นพื้นที่สร้างลูกค้าหน้าใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง นอกจากเนื้อหาของรีวิวแล้ว จำนวนรีวิวก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต่อให้ได้เรตติ้งดีแต่มีคนรีวิวน้อยก็อาจจะไม่น่าดึงดูดใจเท่า เรตติ้งปานกลางแต่มีรีวิวนับร้อยให้เห็นว่ามีคนมาซื้อสินค้า ใช้บริการแล้วเป็นจำนวนมาก
แต่แม้รีวิวจะเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการตลาดดิจิทัล แต่ความจริงใจก็เป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัยก็ไม่ควรละเลย แบรนด์ไม่ควรสร้างรีวิวปลอม ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาลูกค้า แต่ควรช่วยซัพพอร์ตให้รีวิวจากประสบการณ์จริงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่นการขออนุญาตผู้รีวิวนำไปเผยแพร่ต่อผ่านสื่ออื่น ๆ หรือส่งสินค้าแทนคำขอบคุณให้ผู้ที่รีวิวสินค้า
6. Automated & Smart Bidding
ระบบการกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการลงโฆษณาอัตโนมัติ ของ Google ที่ยกภาระการเสนอราคาเป็นไปโดยอัตโนมัติด้วย Machine Learning เพื่อส่งโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะได้เห็นโฆษณา และมีโอกาสที่จะซื้อสินค้ามากที่สุด โดยวิเคราะห์มาจากข้อมูลของผู้เข้าชมเว็บไซต์ และผู้ซื้อสินค้าภายในเว็บไซต์
แม้สิ่งนี้จะไม่ใช่ของใหม่ แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่ในอนาคตเราก็ยังคงต้องสนใจ และให้ความสำคัญกับสิ่งนี้อยู่ดี เพราะแม้เราจะยกการคำนวณ สถิติต่าง ๆ ให้คอมพิวเตอร์ประมวลผล แต่ในทางกลยุทธ์ นักการตลาดดิจิทัลก็ยังจำเป็นต้องคอยดูแลควบคุมให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ทดสอบสมมติฐาน ทดลองรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ
7. Ephemeral Content
เนื้อหาไม่จีรัง แต่พลังการสื่อสารยั่งยืน Ephemeral content เป็นชื่อเรียกเนื้อหาที่มีระยะเวลาแสดงผลจำกัด ตัวอย่างเนื้อหาที่มาแรงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Stories บน Instagram ซึ่งสร้างฟังก์ชันมาให้เหมาะกับการแสดงผลภาพในแนวตั้ง เนื่องจากคนส่วนใหญ่รับชมผ่านสมาร์ทโฟน โดยเนื้อหาที่แสดงผลผ่านรูปแบบนี้มักจะนำเสนออย่างไม่เป็นทางการ และมีความยืดหยุ่น เน้นความเข้าถึงง่าย สบายๆ น่าติดตาม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาในรูปแบบ Filter ที่เปลี่ยนใบหน้าของผู้ใช้งานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์เพื่อความตลกขบขัน หรือชวนทำ Challenge ที่แท็กเพื่อนต่อ ๆ กันไปไม่รู้จบ
Ephemeral content เป็นช่องทางใหม่ ๆ ที่จะนำเสนอสินค้า เรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ ไปจนถึงเสนอโปรโมชันทั้งผ่านการติดตามแอคเคาน์ในโซเชียลมีเดีย และการยิงโฆษณาตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย รายงานของ Hootsuite พบว่านักการตลาดกว่า 64% วางกลยุทธ์ทางการตลาดโดยมี Instagram Stories ประกอบอยู่ในแผนด้วย
Frankie Greek จาก Snapchat ต้นตำรับของการทำ Ephemeral content ให้ความเห็นไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกอยากมีปฏิสัมพันธ์ด้วยก็คือ การวางโครงสร้างการเล่าเรื่องให้เหมาะสม เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเลื่อนดู Story พร้อมกันในคราวเดียว การโพสต์เรื่องนั้นทีเรื่องนี้ทีทุกชั่วโมงแต่ไม่สัมพันธ์กันนั้นยากที่จะสร้างความประทับใจให้ผู้ติดตามได้ นอกจากนี้การโพสต์ภาพนิ่งและวิดีโอในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันอย่างสม่ำเสมอ และชวนอินฟลูเอนเซอร์มาร่วมสนุกจะช่วยสร้างสีสันในการติดตามและขยายกลุ่มลูกค้าออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น
8. AI-Integrated Marketing
ในปัจจุบัน Artificial Intelligence (AI) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นคำที่มีตัวตนอยู่เพียงในนิยายวิทยาศาสตร์ หนังไซไฟอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้ชีวิตของเราทุกคนสะดวกสบายมากขึ้น นักการตลาดดิจิทัลเองก็ไม่จำเป็นต้องนั่งกดเครื่องคิดเลขวิเคราะห์สถิติทางการตลาดด้วยตัวเอง หรือนั่งจดข้อมูลจนตาลายอีกต่อไป แต่สามารถยกงานคำนวณที่มีหลากหลายปัจจัยเป็นหน้าที่ของ AI นำไปประมวลผล วิเคราะห์ออกมาเป็นกราฟที่อ่านง่าย แถมยังพยากรณ์แนวโน้มในอนาคต ไปจนถึงทำหน้าที่ Social Listening คอยดักจับคีย์เวิร์ดสำคัญ แจ้งเตือนเมื่อมีแนวโน้มว่าแบรนด์อาจจะกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ดราม่าได้อีกด้วย
แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้งาน AI ในระดับลึกหรือใช้งานเพียงผิวเผิน แต่สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องให้ความใส่ใจหากต้องการจะทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ก็คือการวางระบบฐานข้อมูลให้เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มุ่งไปสู่การมอบประสบการณ์แบบ Personalized ยิ่งควรวางระบบรองรับการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการของลูกค้าไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินที่รัดกุม มีแผนสำรองหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
9. Shoppable Posts
เพราะความต้องการซื้อ รอไม่ได้ ยิ่งช้อปง่าย ยิ่งได้ใจ การซื้อขายออนไลน์ที่มีขั้นตอนมากจนเกินไปอาจส่งผลให้ผู้ซื้อถอดใจก่อนที่จะไปถึงปลายทาง Shoppable Posts ใน Instagram จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการกระตุ้นความสนใจด้วยภาพสวย ๆ แล้วเปิดโอกาสให้สามารถกดซื้อเป็นเจ้าของได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแอปพลิเคชันไปที่อื่น
ฟังก์ชันนี้ทำให้การซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้เช่นเดียวกับการเดินไปตามถนนแล้วหยุดดูชุดสวย ๆ ที่บานกระจกหน้าร้าน แต่ย่นย่อประสบการณ์นั้นลงมาไว้ในจอสมาร์ทโฟนที่เพียงเลื่อนผ่านภาพในฟีดแล้วสนใจก็สามารถกดแท็บเพื่อดูราคาก่อนตัดสินใจได้ทันที
การติดตั้ง Shoppable Posts ใน Instagram จะพ่วงมาด้วยฟังก์ชันเดียวกันนี้ใน Facebook ด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการมองเห็นสินค้าและทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อได้พร้อมกันในคราวเดียว
10. Extended Reality (XR)
ขยายขอบเขตประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี Extended Reality (XR) ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของ ประกอบด้วยหลากหลายรูปแบบ เช่น Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) และ Mixed Reality (MR) การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ ช่วยเสริมข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้มากขึ้น ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวเลยเช่น อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ แอปพลิเคชันที่ช่วยให้เราเลือกกรอบแว่นที่เข้ากับหน้า ทดลองเฉดสีเครื่องสำอาง ทดลองวางเฟอร์นิเจอร์ใหม่ในมุมเดิมของบ้าน ไปจนถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยสภาวะเสมือนจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุระหว่างฝึกงาน
ตลาดของเทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2020 มียอดขายสูงถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์กันว่าในปี 2024 จะพุ่งทะยานไปอีก 6 เท่าของปัจจุบัน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ราคาถูกลง นักการตลาดดิจิทัลจึงควรเตรียมพร้อมลองหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับสารที่ต้องการสื่อและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การซื้อขายได้เป็นผลสำเร็จ
หลักสูตรการบริหารการตลาดดิจิทัล รุ่น 4 Mini MBA - Digital Marketing Management #8 จึงจะเป็นทั้งคอร์สเรียนที่เพิ่มพูนความรู้ ฝึกทักษะเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลที่ทำให้คุณเท่าทันความเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัลอยู่เสมอ ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดหลักสูตรได้ที่
อ้างอิง
https://www.business2community.com/digital-marketing/5-digital-marketing-trends-you-need-to-know-for-2022-02427038
https://www.aniview.com/top-10-digital-marketing-trends-that-will-remain-relevant-in-2021-2022/
https://www.binaryfountain.com/blog/zero-click-searches/
https://reputationup.com/en/the-rise-of-no-click-searches-everything-you-need-to-know-to-prepare-for-the-best/
https://www.searchenginejournal.com/seo-zero-click-searches/286401/#close
https://www.twfdigital.com/blog/2019/01/prepare-for-visual-search/
https://digitalmarketinginstitute.com/blog/ephemeral-content-what-it-means-for-your-brand
https://kollective.one/introduction-to-influencer-marketing/
https://www.viget.com/articles/xr-vr-ar-mr-whats-the-difference/
Opmerkingen