มีหลากหลายบริบทเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจที่มีการเติบโตของธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพ (Startup Business) ในสายต่างๆอย่างมากมายมหาศาล ประกอบกับการแข่งขันในการทำการตลาดที่หนักหน่วง พร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องของ AI ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ (Business) และการตลาด (Marketing) แบบไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้แบรนด์และต้องปรับตัวและนำเอาความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์รวมถึงสร้างประสบการณ์ดีๆให้กับผู้บริโภค
ความเป็นแก่นแท้ที่สร้างให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคงและเติบโตได้อย่างยาวนาน ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างแบรนด์ (Branding) ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการขายและการตลาด หากคุณสร้างแบรนด์ที่มีแนวทางและเป้าหมายของความเป็นแบรนด์ได้ชัดเจน ก็จะทำให้คุณสร้างความได้เปรียบและแตกต่างจากคู่แข่ง โดยที่คุณอาจไม่ต้องลงทุนมากมายไปกับการตลาดหรือเข้าไปอยู่สงครามด้านราคา เรามาดูบทสรุปสำคัญๆของแนวโน้มในการสร้างแบรนด์สำหรับปี 2024 กันในบทความนี้ครับ
เป้าหมายอยู่เหนือผลประโยชน์ (Purpose Beyond Benefit)
การขับเคลื่อนในเรื่องของเป้าหมาย (Purpose-Driven) ถือเป็นจุดสูงสุดของการสร้างแบรนด์มาโดยตลอด และเรื่องของ Purpose นั้นก็มีมาค่อนข้างนาน แต่เรามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการขับเคลื่อนทั้งยอดขาย (Sales-Driven) และการขับเคลื่อนด้านการตลาด (Marketing-Driven) กันเป็นหลัก เพราะมันสามารถสร้างให้เกิดรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่บริบทของการทำธุรกิจนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงโดยเราจะเห็นจากธุรกิจที่ยืนระยะได้อย่างยาวนานเป็นหลายสิบหรือหลักร้อยปี นั้นมีการปรับตัวและขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Purpose-Driven แทบจะทั้งสิ้น และคำว่าเป้าหมายที่มากกว่าการสร้างผลกำไร ก็คือ การมีอยู่ของแบรนด์ว่าเกิดมาทำธุรกิจบนโลกใบนี้เพื่ออะไร ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Millennials และกลุ่ม Gen Z กำลังมองหาอยู่ เพราะมันคือคำมั่นสัญญาว่าแบรนด์ของคุณเกิดมาเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
ความยั่งยืนและจริยธรรมคือแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Sustainability and Ethical as a Core)
คำว่าความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ใช่ Option เสริมหรือคำพูดสวยๆอีกต่อไป แต่เป็นกลยุทธ์หลักของการสร้างแบรนด์ (Brand Strategy) และการทำธุรกิจไปแล้ว และจะยิ่งทวีความสำคัญมากในอนาคต เพราะตอนนี้ทั่วทั้งโลกกำลังประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก รวมถึงปัญหาเรื่องเกี่ยวความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม การสร้างให้เกิดการแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Values) ในภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมดจึงสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด การสร้างแบรนด์อย่างมีจริยธรรม การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และยังรวมไปถึงหลักปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
สื่อสารแบรนด์อย่างจริงใจและโปร่งใส (Authenticity and Transparency in Brand Communication)
ความแท้จริงของแบรนด์ (Brand Authenticity) เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างให้เกิดความแตกต่างมากที่สุด เพราะมันสร้างให้เกิดความเคารพและความเชื่อมั่นความเชื่อใจในตัวแบรนด์จากมุมของผู้บริโภคและผู้สนับสนุนแบรนด์ ความแท้จริงของแบรนด์ (Brand Authenticity) จะกลายเป็นหนึ่งในแกนหลักสำหรับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของแบรนด์ในอนาคต ซึ่งนั่นก็ส่งผลมายังเรื่องของการสื่อสารอย่างโปร่งใสและจริงใจ โดยแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ มีส่วนร่วมในความรู้สึกของผู้บริโภค และพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือด้วยใจจริง ด้วยพื้นฐานความเป็นแก่นแท้ของแบรนด์ (Brand Essence) อย่างแท้จริง มีความน่าเชื่อถือ (Credibility) ความซื่อสัตย์ (Integrity) เป็นสัญลักษณ์ของบางสิ่ง (Symbolism) การสื่อสารแบรนด์นั้นก็ต้องคงเส้นคงวาและต่อเนื่องไม่หยุดด้วยเช่นกัน (Continuity & Consistency) ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนกับความเป็น Authenticity เช่น Patagonia แบรนด์ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม Dove กับแคมเปญ Real Beauty ที่เน้นแนวคิดเชิงบวกให้ผู้หญิงเชื่อมั่นในตัวเองและเห็นความสวยงามในตัวเอง Apple ที่มุ่งมั่นในเรื่องของการออกแบบและการนำนวัตกรรมมาใช้กับผลิตภัณฑ์ TOMs กับแนวคิดการทำธุรกิจแบบ One for One เมื่อลูกค้าซื้อรองเท้า 1 คู่ TOMs จะบริจาครองเท้า 1 คู่ ให้กับผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส
เล่าเรื่องราวให้น่าจดจำ (Storytelling to Be Memorable)
ยุคที่เรื่องราวหรือเรื่องเล่าได้กลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนแบรนด์ ด้วยการเชื่อมโยงผู้คนผ่านความรู้สึกทางอารมณ์ในเชิงลึก โดยแกนหลักในการสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงทางอารมณ์ (Emotional Storytelling) ที่แบรนด์ต้องสร้างให้เกิดขึ้นนั้น ก็คือ การสร้างให้เกิดความรู้สึกร่วมที่มาจากความเข้าอกเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไปสู่การแบ่งปันประสบการณ์ (Shared Experience) ระหว่างแบรนด์และกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย การเล่าเรื่องราวจึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่ในปีนี้ทุกอย่างเกี่ยวกับความแท้จริง (Authenticity) และการเชื่อมโยงทางอารมณ์ (Emotional Connection) จะสร้างความน่าสนใจที่ไม่เพียงแค่โดดเด่นแบบลึกซึ้งกับผู้ชม แต่หากแบรนด์สื่อสารในแบบที่สะท้อนถึงคุณค่าของแบรนด์ได้ชัดเจนและจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย ก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่เข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าแบรนด์อื่นๆ ที่ต้องอาศัยการนำทางผ่านการทำ Content Marketing อย่างสร้างสรรค์
Immersive 360 Degree Brand Experience
การเข้ามาของเทคโนโลยีในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปิดตัว Apple Vision Pro ได้สร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมให้เกิดการสร้างประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบดื่มด่ำ (Immersive) โดยการสร้างแบรนด์ในยุคต่อไปก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการผสมผสานเทคโนโลยีจำพวก AR/VR/MR รวมถึง AI เข้ามาอยู่ในทุกๆจุดจับสัมผัสของลูกค้า (Customer Touchpoints) และการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) แบบ 360 องศา ตั้งแต่ขั้นของการสร้างการรับรู้ (Awareness) การพิจารณา (Consideration) การซื้อ (Purchase) การรักษาลูกค้า (Retention) และการสนับสนุนและบอกต่อ (Advocacy) อย่างเหมาะสมให้ได้แบบแนบเนียนและไร้รอยต่อมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับตัวของแบรนด์ (Brand Experience) และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับตัวของลูกค้า (Customer Experience)
ใช้ประโยชน์จาก AI ให้เหมาะสมมากที่สุด (Leveraging AI for Brand Innovation)
โลกของ AI ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะ Generative AI ที่ทรงพลังมากและกำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อสนับสนุนและสร้างให้แบรนด์ของคุณมีความทันสมัยและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้ดีมากยิ่งขึ้น เราได้เห็นหลายๆแบรนด์ได้นำเอา Generative AI ประเภทต่างๆมาปรับใช้กับการทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆทั้งการทำภาพโฆษณา การทำวีดิโอ การออกแบบดีไซน์ การวางแผนแคมเปญการสื่อสารในแบบต่างๆ และอื่นๆอีกมาก ซึ่งการนำเอา AI มาประยุกต์ใช้ โดยนอกเหนือจากจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคแล้ว ตัวของแบรนด์เองก็จะดูทันสมัยมากขึ้นอีกด้วย
ยุครุ่งเรื่องของ Social Commerce (The Rise of Social Commerce)
ในปี 2024 ก็มีความคาดหวังว่าจะได้เห็นการค้าขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ต่างๆ จะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Instagram, TikTok และ Facebook เพื่อขายสินค้าและบริการให้กับผู้ติดตามของตน และยังใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ารวมถึงการสร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
มุ่งเน้นเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม (Diversify and Inclusion)
ผู้บริโภคกำลังมองหาและสนับสนุนแบรนด์ที่มุ่งมั่นกับการเปิดรับเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียม ในปี 2024 เราจะได้เห็นแบรนด์ต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การสร้างแคมเปญทั้งการสร้างแบรนด์และการสื่อสารการตลาดที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น โดยแบรนด์จะต้องสะท้อนถึงความหลากหลายของลูกค้า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ รสนิยมทางเพศ หรือความสามารถนั่นเอง
ทั้งหมดเป็นแนวโน้มสำคัญๆที่น่าจับตามองและเป็นแนวทางเพื่อสร้างแบรนด์ให้แตกต่างมีความหมายและมีคุณค่า โดยประเด็นสำคัญก็คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค และการก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีที่ต้องไม่ทิ้งมิติด้านความยั่งยืน ทั้งสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
เรียนรู้และเข้าใจการสร้างแบรนด์อย่างลึกซึ้งขึ้นในหลักสูตร
หลักสูตรการบริหารและสื่อสารแบรนด์
ที่จัดเต็มด้วย case study และ workshop
ให้คุณได้ออกแบบ Brand Book เพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้เลย
Comments