ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ระดับโลกอย่าง Interbrand ได้มีการสรุปแบรนด์ที่ดีที่สุดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกประจำปี 2023 ที่ผ่านมา หรือ Best Global Brand 2023 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยโดยมีการประเมินจาก 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ มูลค่าทางการเงิน (ยอดขายสินค้าหรือบริการ) กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคต่อแบรนด์ และความแข็งแกร่งของแบรนด์ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท โอกาส และศักยภาพในการเติบโตในอนาคตของธุรกิจได้อย่างชัดเจน อันดับที่ 1 นั้นก็ยังเป็นแบรนด์ Apple ที่นับว่าเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกมาหลายปีติดต่อกัน ตามติดมาด้วย Microsoft และ Amazon โดย Top 3 นั้นยังคงเป็นแบรนด์เดิมจากปีก่อนหน้านี้ ในบทความนี้ผมจะมาวิเคราะห์ในมิติความแข็งแกร่งของแบรนด์ (Brand Strength) ในประเด็นสำคัญๆมาให้เห็นกันครับว่า จุดใดบ้างที่ส่งเสริมให้แบรนด์นั้นๆกลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกที่นอกเหนือจากมูลค่าทางการเงิน
รูปภาพจาก: https://interbrand.com/
อันดับที่ 1 Apple มูลค่าแบรนด์รวม 502,680 ล้านเหรียญ
Apple ถือเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมา 6 ปี ติดต่อกัน (2017 - 2023) โดย Apple จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ที่นับเป็นแบรนด์ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้วย Tagline ที่เป็นตำนานอย่าง Think Different และมีการเปลี่ยน Tagline อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน แบรนด์ Apple เริ่มต้นโดย สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ล่วงลับ และ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) ตั้งแต่ปี 1976 ผู้ซึ่งนำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ๆกับการเปลี่ยนมุมมองที่ผู้คนมีต่อคอมพิวเตอร์ไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสองอยากทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีความเล็กกระทัดรัด สามารถใช้งานง่าย สำหรับทุกๆบ้านและทุกๆออฟฟิศ โดยปัจจุบันก็มี Tim Cook เป็น CEO
ความชัดเจนในเป้าหมายและคุณค่าที่ถ่ายทอดสู่ผลิตภัณฑ์และการบริการ
ด้วยเป้าหมาย (Purpose) เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ “เติมเต็มชีวิตประจำวันของผู้คน” มีวิสัยทัศน์ (Vision) ในการ “สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด” โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ Apple มีการออกแบบที่ทันสมัยและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพราคาระดับพรีเมี่ยมออกสู่ตลาดอย่างมากมาย
พันธกิจ (Mission) ของ Apple คือ การมุ่งสร้างสรรค์ “นวัตกรรมใหม่ๆ” ให้กับโลก และสร้าง “ประสบการณ์ที่ดีที่สุด” ให้กับลูกค้า โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกแห่งการฟังเพลงที่หลายๆคนรู้จักนั่นก็คือ iPod ที่ออกขายในปี 2001 โดยใช้เวลาแค่ 6 เดือนในการผลิต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น iPhone, iPad, MacBook, iMac, Apple Watch, AirPods อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีนวัตกรรมอันทันสมัยซ่อนอยู่ ซึ่งทั้งหมดนั้นเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของหลายๆคนอย่างที่ Apple ได้ตั้งใจเอาไว้ และในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 Apple ก็ได้เปิดตัว Chip M1 ซึ่งถือเป็น Chip รุ่นแรกที่ออกแบบโดย Apple สำหรับเครื่อง Mac โดยเฉพาะ มีประสิทธิภาพสูงมากและกลายเป็นแนวหน้าของอุตสาหกรรมไปแล้ว ด้วยคุณสมบัติที่ทรงพลังรวมถึงการประหยัดพลังงานที่น่าทึ่ง ปัจจุบันมีการพัฒนาไปสู่ M2 และ M3 ซึ่งทรงประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หรือเรียกได้ว่าแบรนด์ Apple นั้นมี Culture of Innovation อยู่อย่างเต็มเปี่ยม
Apple ยึดเหนี่ยวตัวเองไว้กับคุณค่า (Core Values) ในการขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ ซึ่งในแต่ละข้อนั้นก็ได้พิสูจน์ออกมาให้เห็นแล้วว่า Apple ได้ทำมันออกมาได้จริงที่มาจากการตั้งเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจของแบรนด์
การเข้าถึงอย่างสะดวก (Accessibility) Apple มุ่งเน้นที่การทำให้คอมพิวเตอร์ Mac โทรศัพท์ หรือแม้แต่บริการของ Apple TV เข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นักพัฒนา (Developer) สามารถเข้าถึงระบบนิเวศของ App Store ของ Apple เพื่อสร้างแอปพลิเคชันของตนเองได้
สนับสนุนการศึกษา (Education) บริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ให้กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาสกว่า 100 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการบริจาค iPad ให้กับนักเรียนทุกคน เครื่อง Mac และ iPad ให้กับคุณครูทุกคน และ Apple TV ให้กับทุกห้องเรียน
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) Apple พยายามสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมดด้วยพลังงานสะอาดและจะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 รวมถึงการนำเอาวัสดุ Recycle มาใช้กับผลิตภัณฑ์ Apple มีการลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการป่าไม้เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี
ความเท่าเทียมและความหลากหลาย (Equality & Diversify) วัฒนธรรมในการทำงานของ Apple นั้นเปิดรับและให้ความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศทุกวัย
ความเป็นส่วนตัว (Privacy) Apple เชื่อว่าความเป็นส่วนตัวเป็นสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อปกป้องข้อมูลของลูกค้า และให้พวกเขาควบคุมข้อมูลของตนเองได้มากขึ้น ในปี 2021 Apple ยังอัปเดตการควบคุมความเป็นส่วนตัวเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นว่าแอพกำลังใช้ข้อมูลของพวกเขาเมื่อใด
ความเสมอภาคทางเชื้อชาติและความยุติธรรม (Racial equity and justice) Apple ทุ่มเงิน 100 ล้านดอลลาร์ผ่านโครงการ Racial Equity and Justice Initiative (REJI) เพื่อช่วยขจัดการเหยียดเชื้อชาติที่ชุมชนคนผิวสีต้องเผชิญ
ความรับผิดชอบต่อคู่ค้า (Supplier responsibility) Apple ใช้มาตรฐานเดียวกันกับทั้งซัพพลายเออร์และพันธมิตรของธุรกิจ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทีมงานของตนเอง บริษัทมีการประเมินประสิทธิภาพของซัพพลายเออร์อย่างเข้มงวด และมุ่งเน้นอย่างมากในการยุติความเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่ไม่ยั่งยืน
ตำแหน่งแบรนด์ที่ชัดเจนแตกต่าง
Apple วาง Positioning ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรืออุปกรณ์พกพาที่ดีที่สุด โดย Apple ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยที่สุด ที่เน้นการวิจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การใช้นวัตกรรมใหม่ๆเพื่อแนวทางการดำเนินธุรกิจ ตำแหน่งของแบรนด์ Apple สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งจากทุกๆผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาภายใต้แบรนด์ของ Apple และธุรกิจของ Apple ก็ขับเคลื่อนด้วยจริยธรรมทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
สร้าง Experience ในทุกๆ Touchpoints
หากใครที่เป็นสาวก Apple ไม่ว่าจะผลิตภัณฑ์ใดก็ตามก็จะเห็นว่า Apple ได้สร้างประสบการณ์ทั้ง Brand Experience และ Customer Experience อย่างต่อเนื่องและมีความคงเส้นคงวาในทุกๆ Touchpoint มาโดยตลอด โดยสื่อที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ บิลบอร์ด เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่หน้าร้านในแต่ละสาขา ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น มีการใช้ Message ที่เคลียร์ อ่านง่าย และแสดงถึงความทันสมัย โดยมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ และมีการพูดถึงจากลูกค้าและผู้บริโภครวมไปถึงคนที่รู้จักแบรนด์ในเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ
ปรับตัวตามสภาพตลาดและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป
โลกของเราได้เข้ามาสู่ยุคของ Immersive Experience ที่มีเทคโนโลยีอย่าง AR/VR/MR และ AI อย่างแทบจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งนั่นทำให้หลายๆอุตสาหกรรมและหลากหลายธุรกิจต้องปรับตัว ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้มาปรับใช้ ล่าสุด Apple เองก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีหลายคนขนานนามว่า จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลนั่นก็คือ Apple Vision Pro ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงการเปิดตัวแม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูงสุดกู่ และถึงแม้ว่าในระยะหลังๆจะมีกระแสในเชิงลบออกมาบ้างแต่ก็ยังถือเป็นแบรนด์ผู้นำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยังหาแบรนด์ไหนเทียบได้ค่อนข้างยาก แต่ที่น่าเสียดายสำหรับ Apple ก็คือ Apple ได้ประกาศยุติการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปทั้งๆที่ซุ่มพัฒนาอยู่นานนับ 10 ปี เพื่อไปมุ่งพัฒนาด้าน AI แทน แต่ก็ทำให้เราเห็นครับว่าแบรนด์มีการปรับตัวตามแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
ฐานลูกค้าทั่วโลก
ปัจจุบัน Apple มีหน้าร้านอยู่ 528 ร้าน ตั้งอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบจำนวนลูกค้าในแต่ละประเทศอย่างแน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่รับประกันถึงความยิ่งใหญ่ของ Apple นั่นก็คือ Apple มีสาวก (Brand Advocacy) และลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ที่เหนียวแน่นมากที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลก โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงแบรนด์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีประเภทโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันโดดเด่น มีการออกแบบที่หรูหราและมีความพรีเมี่ยม แบรนด์ Apple มักจะเป็นคำตอบอันดับแรกๆอยู่เสมอนั่นเอง
รูปภาพจาก: https://interbrand.com/
จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ Apple กลายเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งหรือ Brand Strength มากที่สุดแบรนด์หนึ่ง ซึ่งเมื่อนำมารวมกับมูลค่าทางการเงิน (ยอดขายสินค้าหรือบริการ) และกระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคต่อแบรนด์ รวมไปถึงความทุ่มเท โอกาส และศักยภาพในการเติบโตในอนาคตของธุรกิจ Apple จึงกลายเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคจนมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกหลายปีซ้อนนั่นเอง
อันดับที่ 2 Microsoft มูลค่าแบรนด์รวม 316,659 ล้านเหรียญ
เราเติบโตมากับระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งถือเป็นระบบปฏิบัติการที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกบนเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) และคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Laptop) โดยมีอัตราสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 72.99% ซึ่งผู้พัฒนาคือแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่าง Microsoft ที่ก่อตั้งโดย Bill Gates ในปี 1975
และ Microsoft ก็ถือเป็นแบรนด์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าแบรนด์ติดอันดับ 1 ใน 10 มาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ Microsoft กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกนั้น หากนำมาวิเคราะห์ดูแล้วจะสามารถสรุปได้ ดังนี้
การเติมเต็มเป้าหมายของแบรนด์
โดยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ Microsoft นั้นก็คือ การส่งเสริมบุคคลและองค์กรให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น วัตถุประสงค์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกันสำหรับผู้คนทั่วโลก Microsoft มีเป้าหมายเพื่อให้บุคคล ธุรกิจ และชุมชนตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของตน ด้วยเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน ทำให้ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Microsoft ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทั้งโลก
ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ
Microsoft ได้สร้างชื่อเสียงของแบรนด์ที่แข็งแกร่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดดเด่นด้วยความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และด้านนวัตกรรม ลูกค้าทั้งแบบบุคคลและองค์กรต่างไว้วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
ความมุ่งมั่นของ Microsoft ในการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคคลและองค์กรต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้รับการออกแบบโดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในแบบเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ธุรกิจ หรือสถาบัน ตัวอย่าง เช่น Windows ได้พัฒนาเพื่อให้ระบบปฏิบัติการนั้นเป็นมิตรต่อผู้ใช้และปลอดภัยสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลจนไปถึงระดับมืออาชีพ ในขณะที่ Office 365 มีชุดเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่สอดประสานร่วมกัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่ายังคงมีความเกี่ยวข้องและมีคุณค่าต่อผู้ใช้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแบรนด์ ที่ต้องการช่วยให้ผู้คนประสบความสำเร็จมากขึ้นทั้งในชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงาน
Microsoft ยังถือเป็นแบรนด์ที่มีมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมากที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก นับตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ Windows ที่มีไม่ต่ำกว่า 25 เวอร์ชั่น ซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่เรารู้จักกันดีอย่าง Microsoft Office ที่มีไม่ต่ำกว่า 10 เวอร์ชั่น Windows Server ไม่ต่ำกว่า 10 เวอร์ชั่น ระบบคลาวด์ที่ชื่อว่า Azure เครื่องเกม Xbox แท็บเล็ตอย่าง Surface และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกนับร้อยรายการ เพียงแค่ Microsoft Windows ก็มีผู้ใช้งานกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลก ส่วนในตระกูล Microsoft Office ก็มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 1.2 พันล้านคนเลยทีเดียว
ความโดดเด่นด้านการประมวลผลบนระบบคลาวด์
แพลตฟอร์มการประมวลผลบนคลาวด์ Azure ของ Microsoft มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการชั้นนำในอุตสาหกรรม ด้วยการที่ธุรกิจต่างๆทั่วโลกหันมาใช้บริการคลาวด์เพิ่มมากขึ้น ณ ปัจจุบัน Microsoft Azure มีให้บริการใน 62 ภูมิภาค และ 120 เขต นับว่าใหญ่และครอบคลุมมากที่สุดในโลก กระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ปัจจุบันมี Market Share ราว 20%-30% เป็นรองเพียงแค่เพียง AWS ของ Amazon เท่านั้น การเติบโตของ Azure จึงมีส่วนสำคัญต่อมูลค่าโดยรวมของ Microsoft เช่นกัน
ความสามารถในการปรับตัว
Microsoft ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความสามารถในการฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความท้าทาย เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 การเปลี่ยนมาทำงานจากระยะไกล (Remote Working) และการพึ่งพาโซลูชันแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นผ่าน Microsoft Team ที่ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft
ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม
ภายใต้การนำของ CEO คนใหม่อย่าง Satya Nadella นั้น ทำให้ Microsoft ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญไปสู่นวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน บริษัทประสบความสำเร็จในการปรับตัวตามแนวโน้มของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆและพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น (Machine Learning) และคอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum) ตัวอย่างที่เราเห็นก็คือ Microsoft Bing และ Copilot ทำให้นักพัฒนาและธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงได้ ช่วยให้พวกเขาใช้ประโยชน์จากความสามารถของ AI เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ นับเป็น Core Values หลักข้อหนึ่งของ Microsoft ในการขับเคลื่อนธุรกิจอีกด้วย
คุณค่าหลักในการขับเคลื่อนแบรนด์ คือ การเข้าถึงอย่างสะดวก
ความมุ่งมั่นของ Microsoft ในด้านการเข้าถึงนั้นฝังลึกอยู่ในเป้าหมายของแบรนด์ โดย Microsoft เชื่อว่าเทคโนโลยีควรครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความสามารถทางกายภาพหรือความรู้ความเข้าใจ Microsoft รวมคุณลักษณะต่างๆในการใช้งานไว้ในผลิตภัณฑ์และบริการของตนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่มีความทุพพลภาพจะสามารถใช้งานได้โดยไม่เป็นอุปสรรค ซึ่งรวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอ แว่นขยาย การจดจำเสียง และวิธีการป้อนข้อมูลอื่นๆ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของการเข้าถึง Microsoft มุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในการทำงาน การศึกษา และกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ (Mission) ในการช่วยให้ทุกคนประสบความสำเร็จมากขึ้น
ขับเคลื่อนสังคมด้วยเป้าหมายอันยิ่งใหญ่
กิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR ของ Microsoft มุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบรนด์วางแนวทางการทำ CSR ให้สอดคล้องกับประเด็นหลักที่สามารถสร้างความแตกต่างที่มีความหมายได้ เช่น ความเท่าเทียมในการใช้ดิจิทัล การศึกษา ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น Microsoft Philanthropies บริษัทจะมอบเงินสนับสนุน การบริจาคเทคโนโลยี และการสนับสนุนอาสาสมัครแก่องค์กรไม่แสวงผลกำไร รวมไปถึงองค์กร ชุมชนที่ทำงานเพื่อบริหารจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่ทางสังคม Microsoft ยังกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนเอาไว้ว่า ในปี 2030 Microsoft จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด และภายในปี 2050 Microsoft จะไม่มีการปล่อยคาร์บอนจากบริษัทออกสู่สิ่งแวดล้อมเลยไม่ว่าโดยตรงหรือโดยการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
เป้าหมายของ Microsoft นั้นแทรกซึมอยู่ในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมไปจนถึงการเป็นเข้าไปเป็นหุ้นส่วน โครงการต่างๆที่ได้ริเริ่มขึ้น CSR และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของลูกค้า ด้วยการยึดมั่นในเป้าหมายการมีอยู่ของแบรนด์ในการเสริมศักยภาพบุคคลและองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่มากขึ้น Microsoft ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงบวกและมีส่วนช่วยให้โลกให้ยั่งยืนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
อันดับที่ 3 Amazon มูลค่าแบรนด์รวม 276,929 ล้านเหรียญ
Amazon ถือเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ก่อตั้งโดย เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ตั้งแต่ปี 1994 ที่เรียกได้ว่าขายแทบจะทุกสิ่งอย่างบน E-Commerce
เว็บไซต์ที่ชื่อ Amazon.com สำหรับแบรนด์ Amazon นั้นเริ่มต้นจากการขายหนังสือและก็ขยายไปขายพวกเกมคอมพิวเตอร์ เพลง สู่การขายผ่านออนไลน์ และขยับขยายไปสู่ระบบคลาวด์อย่าง AWS ที่โด่งดังระดับโลก สำหรับสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ Amazon กลายเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลกนั้น หากนำมาวิเคราะห์ดูแล้วจะสามารถสรุปได้ ดังนี้
เป้าหมายสูงสุดสู่การปฏิบัติจริง
เป้าหมาย (Purpose) ของแบรนด์ Amazon คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายได้อย่างสะดวก การเป็นบริษัทที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง โดยที่ลูกค้าสามารถค้นหาและค้นพบสิ่งที่พวกเขาอาจต้องการซื้อทางออนไลน์ และพยายามที่จะเสนอราคาที่ต่ำที่สุดแก่ลูกค้า นั่นแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของ Amazon ในด้านการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีและราคาที่สมเหตุสมผล
ความเป็น Global Reach ที่เข้าถึงทั่วทุกมุมโลก
Amazon ดำเนินงานในหลายประเทศทั่วโลกจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกอย่างแท้จริง การมีอยู่ของแบรนด์ในตลาดหลายแห่งและความสามารถในการปรับบริการให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแกร่งและมูลค่าให้กับแบรนด์ โดยปัจจุบัน Amazon ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในตลาด E-Commerce และปัจจุบันมีอยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีคลังสินค้าหลายร้อยแห่ง และคาดว่ามีผู้คนประมาณ 2.7 พันล้านคนจับจ่ายซื้อสินค้าใน Amazon ทิ้งห่าง Alibaba ซึ่งมีฐานอยู่ในจีน ที่มีผู้ซื้อ 1.1 พันล้านคน และ eBay ซึ่งเดิมเป็นราชาแห่ง E-Commerce ที่มีลูกค้าเพียง 800 ล้านคนเท่านั้น โดยไม่มีใครสร้างโมเดลธุรกิจในแบบที่ Amazon มีได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม Amazon จึงยังคงเป็นที่หนึ่งด้าน E-Commerce
ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขยายสู่ฐานลูกค้าที่มากขึ้น
ความแข็งแกร่งของ Amazon มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ประเภท E-Commerce จนกลายเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในโลกที่นำเสนอผลิตภัณฑ์มากมายตั้งแต่หนังสือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ และอีกหนึ่งบริการที่สร้างผลกำไรให้กับ Amazon นั่นก็คือ Amazon Prime บริการพิเศษสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของ Amazon ที่ช่วยให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าเร็วมากยิ่งขึ้นและไม่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อสินค้า ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การจัดส่งฟรีภายใน 2 วัน การสตรีมภาพยนตร์และรายการทีวี และการเข้าถึงข้อเสนอพิเศษ โดย Amazon Prime มีสมาชิกมากกว่า 200 ล้านรายทั่วโลก
ในช่วงปี 2006 Amazon ก็เปิดตัวระบบคลาวด์อย่าง Amazon Web Service หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ AWS จนทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปัจจุบัน AWS มี Market Share ราว 30%-40% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก ทำให้ Amazon ไม่ใช่ผู้ค้าปลีกออนไลน์หรือเว็บไซต์ E-Commerce เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์อย่าง Kindle E-reader หรือเครื่องอ่าน eBook ที่สร้างยอดขายได้ดีอย่างต่อเนื่อง
หากจะให้มองถึงคู่แข่งในตลาดเดียวกันถือว่าน่าจะเข้ามาสู้ได้ค่อนข้างยาก เพราะ Amazon นั้นแข็งแกร่งในด้านนี้อย่างแท้จริง และด้วยความแตกต่างนี้จึงกลายเป็นส่วนสำคัญต่อมูลค่าแบรนด์ของ Amazon
การควบรวมและขยายกิจการ
Amazon เข้าซื้อกิจการบริษัทเพื่อเสริมธุรกิจที่มีอยู่หรือเสนอโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อกิจการ Whole Foods ช่วยให้ Amazon เสริมความแข็งแกร่งในตลาดร้านขายของชำ และยังซื้อกิจอย่าง Twitch, Zappos, Ring และ Audible โดยรวมแล้วการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนของ Amazon สะท้อนให้เห็นถึงลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ ทำให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ นับเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตในระยะยาวนั่นเอง
บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจาก: https://interbrand.com/best-global-brands/
มาร่วมสร้างมูลค่าให้แบรนด์ เรียนรู้ และเข้าใจการสร้างแบรนด์อย่างลึกซึ้งขึ้นในหลักสูตร
หลักสูตรการบริหารและสื่อสารแบรนด์
ที่จัดเต็มด้วย case study และ workshop ให้คุณได้ออกแบบ Brand Book เพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้
Comentarios