การบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management) เป็นศาสตร์การจัดการที่ต้องอาศัยการวางแผนที่รัดกุม มองเห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดไปพร้อมกัน ในเมื่อเครื่องจักร วัตถุดิบ บุคลากร กระบวนการทำงาน สภาพแวดล้อม ล้วนแต่สามารถเป็นปัจจัยที่เกิดความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น การควบคุมกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องอาศัยภาพรวมการทำงาน (Monitoring) ตอบสนอง (Corrective action) และการบันทึกข้อมูล (Documentation) นำข้อมูลมาใช้ช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจ ด้วยหลักการทางสถิติ เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย การบริการเป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้ามากที่สุด
เครื่องมือควบคุมคุณภาพ ทั้ง 7 อย่างนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นความหลากหลายในการเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการทำงาน หรือการป้องกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์ได้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง หรือหลายเครื่องมือผสมผสานกันได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการใช้งานซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม
1. ใบตรวจสอบ (Check Sheet)
เป็นแบบฟอร์มสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำให้มองเห็นภาพของข้อมูลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมักมีการประยุกต์ใช้ ทั้งเพื่อ ใช้บันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำ และใช้ตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่
การใช้ใบตรวจสอบ จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ออกแบบให้เหมาะสมกับการแสดงผลในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในพื้นที่ทำงาน ใบตรวจสอบไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดียว หรือแบบเดิมตลอดไป แต่สามารถปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้น แต่ควรตอบโจทย์การทำงานที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
แหล่งอ้างอิง: https://conceptdraw.com/a3452c3/preview/640
2. แผนภาพการกระจาย (Scatter Diagram)
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่าง 2 ตัวแปร ตรวจสอบหาจุดผิดปกติ โดยวิธีการใช้งานคือการพล็อตข้อมูลของทั้ง 2 ตัวแปรลงไปเป็นจุด แต่ข้อมูลที่นำมาใช้ ต้องมาจากแหล่งเดียวกัน เพื่อทำให้ผลการวิเคราะห์มีความผิดพลาดน้อยที่สุด
การกระจายตัวของข้อมูลอาจกระจายในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ได้ หากมีความสัมพันธ์กันมาก ตำแหน่งของข้อมูลจะมีลักษณะรวมกันเป็นแนวเส้น หากข้อมูลกระจายตัวไม่เป็นระเบียบ แสดงให้เห็นว่าตัวแปรทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
แหล่งอ้างอิง: https://chartio.com/learn/charts/what-is-a-scatter-plot/
3. แผนภาพแสดงเหตุและผล (Cause-and-effect diagram)
แผนภาพนี้เรียกอีกอย่างว่า ผังก้างปลา (Fish bone diagram) หรือ Ishikawa Diagram ตามชื่อของ Kaoru Ishikawa นักทฤษฎีองค์กรและศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ซึ่งเริ่มนำผังนี้มาใช้ในปี ค.ศ. 1953 เป็นผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะ ทางคุณภาพกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือสาหรับระบุประเด็นที่เกี่ยวกับคุณภาพและ จัดการตรวจสอบ
แหล่งอ้างอิง: https://www.researchgate.net/figure/A-generic-representation-of-the-Ishikawa-diagram-aka-Fishbone-diagram_fig1_317196193
4. แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagram)
แผนภูมินี้มีที่มาจากชื่อของ Vilfredo Federico Damaso Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นผู้คิดค้นหลักการนี้ขึ้นมา ใช้วิธีการเรียบเรียงปัญหา สาเหตุของปัญหา ชนิดของความไม่สอดคล้องกัน และอื่น ๆ จัดเรียงหมวดหมู่ของข้อมูล จากมากไปน้อย และจากซ้ายไปขวา เพื่อศึกษาหาปัญหาที่ใหญ่ที่สุด หรือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหา จากนั้นจึงพิจารณาแก้ปัญหาเรียงตามลำดับ
5. แผนภูมิการไหล (Flow chart)
แผนภูมินี้จะช่วยแสดงภาพกระบวนการหรือระบบ ทีละขั้นตอน จากเริ่มต้นไปจนจุดจบ ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่มีความสาคัญในการสร้างความเข้าใจในกระบวนการ ช่วยทำให้มองเห็นภาพรวมของการทำงานในกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
6. ฮิสโตแกรม (Histogram)
เป็นเครื่องมือสำหรับแสดงข้อมูลในรูปแบบของกราฟแท่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเป็นหมวดหมู่ที่เรียกว่าช่วงค่า (Range) และค่าความถี่ (Frequency) ของค่าที่เกิดขึ้นรวมทั้งความแปรปรวนของข้อมูลที่เกิดขึ้น เพื่อดูการกระจายของข้อมูล
แกนตั้งจะเป็นตัวเลขแสดงความถี่ ความสูงของกราฟแต่ละแท่งจะเท่ากับความถี่ของแต่ละชั้นข้อมูล แท่งกราฟแต่ละแท่งจะมีความกว้างเท่ากันตามชั้นข้อมูล และแกนนอนแสดงข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ เรียงลำดับจากน้อยไปหามาก
ฮิสโตแกรมจึงช่วยวิเคราะห์ข้อมูลว่ากระบวนการเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการทำงานในแต่ละขั้นตอนได้เป็นอย่างไร
แหล่งอ้างอิง: https://www.investopedia.com/terms/h/histogram.asp
7. การควบคุมด้วยกระบวนการทางสถิติ (Statistical Process Control, SPC)
แผนภูมิที่มีการแสดงค่าที่ยอมรับได้ตามข้อกำหนดทางเทคนิค (Specification) โดยคำนวณหาเส้นมาตรฐานกลาง กำหนดขีดจำกัดทั้งบน – ล่าง (Control limit) เพื่อใช้เป็นประเมินความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
แหล่งอ้างอิง: https://www.cqeacademy.com/cqe-body-of-knowledge/quantitative-methods-tools/statistical-process-control-spc/
การเลือกใช้เครื่องมือทั้ง 7 ชนิดนั้นจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการของแต่ละขั้นตอนของธุรกิจที่มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่เหมือนกัน
เข้าใจหลักการสร้างธุรกิจใหม่ เรียนรู้การใช้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจเดิมได้มากขึ้น ผ่านหลักสูตรสุดเข้มข้นของ NEO Acedemy ที่มีชื่อว่า “การสร้างสรรค์และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่” (Mini MBA: New Business Creation & Feasibility Analysis) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.neobycmmu.com/mini-mba-new-business-creation
อ้างอิง
Comentários