top of page
Writer's pictureNEO ACADEMY

10 คำแนะนำ เรียนออนไลน์แบบไม่ล้มเลิกกลางทาง



ใคร ๆ ก็บอกว่าการเรียนออนไลน์นั้นจะเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเราจะสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องไปปรากฏตัวในที่เดียวกันพร้อมกันเหมือนในอดีตอีกต่อไป Class Central ให้ข้อมูลว่า 110 ล้านคนทั่วโลกลงทะเบียนเรียนออนไลน์ในปี 2019 แต่กว่าครึ่งกลับเรียนไม่จบคอร์ส ซึ่งสาเหตุมีได้ทั้งความยากเกินไป ง่ายเกินไป หรือสำเร็จรูปเกินไปสำหรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล


แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนออนไลน์นั้นมากพอที่จะลองปรับตัวกันดูสักตั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาด้วยตนเองที่หลายคนตั้งใจไว้ นี่เป็นคำแนะนำจากหลากหลายที่มา ซึ่งหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยนำพาให้ “นักเรียนรู้” เช่นคุณสามารถเก็บเกี่ยวความรู้จากคอร์สออนไลน์ที่ตั้งใจไว้ได้เป็นผลสำเร็จ


1) Create A Workspace: สร้างพื้นที่เรียนรู้

จากหลายงานวิจัยชี้ว่าพื้นที่ที่สะอาดเรียบร้อยจะช่วยทำให้โฟกัสได้ดีขึ้น การจัดพื้นที่เรียนรู้ให้เรียบร้อย เป็นระเบียบ จัดวางเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้จะช่วยให้จดจ่อกับเนื้อหาที่เรียนออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้น แต่หากสบายใจกับของรก ๆ บนโต๊ะ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมากเกินไปจนรู้สึกกดดันเกินพอดี เพียงจัดเตรียมตัว เคลียร์พื้นที่ให้พร้อมหยิบจับอุปกรณ์ได้ทันทีที่ต้องการ ไม่ต้องกังวลกับเปิดปิดกล้องเพื่อควานค้นหาสิ่งของระหว่างทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมคลาสออนไลน์


2) Give Yourself Rewards: ให้รางวัลตัวเอง

เป้าหมายในการเรียนรู้ของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนอาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงโลก บางคนอาจเพียงต้องการรู้วิธีซื้อโฆษณาในโซเชียลมีเดีย แต่แน่นอนว่ากว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นล้วนเต็มไปด้วยแรงเสียดทานจากการต้องทำความเข้าใจสิ่งใหม่ รวมถึงรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย การกำหนดเป้าหมายเล็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนออนไลน์แต่ละครั้ง เพื่อเป็นหมุดหมายให้เราได้ฉลองชัยชนะของตัวเอง รางวัลที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อสิ่งของให้ตัวเองเสมอไป อาจจะเป็นการออกไปเดินเล่น โทรไปพูดคุยเล่นกับเพื่อน หรืออาจจะเป็นการลงมือทำอะไรง่าย ๆ อย่างการทำเครื่องหมายในช่องความคืบหน้าให้ตัวเองเห็นว่าเรามาไกลแค่ไหนแล้ว และยังมีความท้าทายใหม่ๆ รออยู่


3) Take Regular Breaks: การพักก็สำคัญไม่แพ้การเรียน

การเรียนออนไลน์ ต้องอาศัยการจดจ่อกับหน้าจอติดต่อกันหลายชั่วโมง จนอาจทำให้หลายคนละเลยการหยุดพักเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หลายงานวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องได้ไม่เกิน 50-90 นาที ดังนั้น ทุกครั้งที่เขียน To do list สิ่งที่ต้องทำ อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับการพักระหว่างการเรียน หรือการทำงานแต่ละช่วงไว้ด้วย เพราะการเว้นจังหวะก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เช่นเดียวกัน หากในช่วงแรกยังไม่รู้จะเริ่มแบ่งเวลาพักอย่างไร ลองศึกษา Pomodoro technique ซึ่งแบ่งเวลาออกเป็นช่วง ๆ เพื่อฝึกฝนและค้นหารูปแบบการพักที่เหมาะสมกับตัวเอง


4) Join Community: เกาะกลุ่มกันไว้

หนึ่งในปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์คือความสัมพันธ์ระหว่างกันของเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือผู้เรียนกับผู้สอน ฟังก์ชันของวิดีโอคอลนั้นไม่เอื้อให้การสนทนาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดขึ้นได้ เราไม่สามารถหันไปกระซิบเล่นมุกกับเพื่อนข้าง ๆ ระหว่างฟังบรรยายจากอาจารย์ได้ จึงส่งผลต่อความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาในการเรียน งานวิจัยพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมคอร์สเรียนออนไลน์มีส่วนช่วยให้เรียนได้จนจบหลักสูตรสูงถึง 16 เท่า และทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วมกับชั้นเรียนได้สูงถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับคอร์สออนไลน์ที่ไม่ได้สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์


หากอ้างอิงแนวทางการเรียนรู้ของ Albert Bandura ซึ่งอธิบายว่ามนุษย์เราเรียนรู้ผ่านการสังเกต การเลียนแบบกันและกัน แม้จะไม่ได้พบเจอกับเพื่อนร่วมคลาสออนไลน์จริง ๆ แต่ก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ สร้างพื้นที่เชื่อมโยงกันได้ ทั้งในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเรียน หรือการคุยเล่นที่เน้นสานสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้พื้นที่การเรียนรู้ระหว่างกันเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย


5) Time management: จัดการเวลาให้เหมาะสม

การเรียนออนไลน์แบบที่สามารถกลับมาย้อนดูวิดีโอการบรรยายได้ อาจทำให้ง่ายที่จะผัดวันประกันพรุ่งจนสุดท้ายก็ล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเวลาในแต่ละสัปดาห์ แต่ละวันสำหรับการเรียน การทบทวนความรู้ และการทำงานที่ได้รับมอบหมาย โดยประเมินตามความเป็นจริง ไม่อัดตารางชีวิตให้แน่นหรือหลวมจนเกินไป (และอย่าลืมให้เวลากับการหยุดพัก) ซึ่งการจัดการเวลานั้นอาจอาศัยแนวคิดการลำดับความสำคัญในชีวิต โดยใช้ The Eisenhower Decision Matrix เป็นตัวช่วยในการวางแผนได้ด้วยเช่นกัน


6) Remove distractions: ควบคุมสิ่งแวดล้อม

สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ส่งผลต่อการเรียนออนไลน์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่กับครอบครัวใหญ่ อาจจะต้องเผชิญสภาวะแม่เรียกกินข้าว หลานเล่นเกมเสียงดัง การทำความเข้าใจกับคนในบ้านเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เราต้องการความสงบจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากหาพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวและพร้อมสำหรับการเรียนรู้แล้วยังควร ปิดการแจ้งเตือนของโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน ใช้เวลาเตรียมพร้อมลดสิ่งรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างเรียนออนไลน์ให้ได้มากที่สุด


7) Test your equipment: เตรียมพร้อมอุปกรณ์

ปัญหาทางเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างไมค์ไม่ดัง เสียงดีเลย์ หรือเน็ตกระตุกระหว่างฟังบรรยาย อาจทำให้ผู้เรียนเสียอารมณ์ หรือทำให้การเรียนรู้สะดุดได้ การเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและทดสอบการใช้งานก่อนเริ่มต้นเรียนทุกครั้ง จึงสำคัญไม่แพ้การเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมเนื้อหา แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อุปกรณ์ขัดข้องระหว่างเรียนต้องหาทางสื่อสาร ส่งข้อความแจ้งเพื่อนร่วมชั้น หรือผู้สอนอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้ขอความช่วยเหลือ หรือขอทบทวนเนื้อหาในชั้นเรียนได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


8) Self-care: ดูแลกายใจให้แข็งแรง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจทำให้เราต้องจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว แถมความไม่แน่นอนยังส่งผลให้เราพยายามจะผลักดันให้ตัวเองต้องก้าวไปทำสิ่งใหม่ เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือหารายได้เสริม ระหว่างเรียนออนไลน์ ความกดดันเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม ที่อาจแสดงออกผ่านความปวดเกร็งของร่างกาย แสดงออกผ่านอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นานเหมือนอย่างเคย จึงควรให้ความสำคัญกับการทะนุถนอมดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ และใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของตัวเองไปพร้อมกัน


9) Get enough sleep: นอนหลับให้เพียงพอ

ดูเหมือนเป็นคำแนะนำที่ง่าย แต่สำหรับคนในวัยทำงานแล้ว การนอนถูกมองราวกับเป็นศัตรูของการสร้างสรรค์ผลงาน หลายคนจึงทุ่มเทเวลาในชีวิตให้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือการทำงานจนไม่ให้ความสำคัญกับการนอนมากพอ เมื่อนอนน้อยก็อัดกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารเสริมต่าง ๆ แทน เพื่อให้โต้รุ่งได้ไหว แต่เชื่อเถอะว่า การนอนหลับอย่างเต็มอิ่มและเป็นเวลานั้นสำคัญต่อการเรียนรู้มากกว่าที่คิด เช่นเดียวกับการพักระหว่างวันให้สมองได้ผ่อนคลาย ดังนั้นจึงต้องไม่ลืมทำให้การนอนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ใน To do list ของคุณ


10) Practise mindfulness: ฝึกสมาธิ

ไม่ต้องถึงกับนั่งขัดสมาธิกำหนดลมหายใจแล้วท่องยุบหนอ พองหนอ แล้วปิดท้ายด้วยการสวดมนต์ แต่คือการฝึกฝนจิตใจให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ฝึกการจดจ่อนิ่ง ๆ เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนนอนหรือหลังตื่นนอน จะช่วยลดความเครียด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และการจดจำข้อมูล เรียบเรียงข้อมูลในสมองดีขึ้นตามไปด้วย เพราะตลอดทั้งวันเราต้องพบเจอความวุ่นวาย การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อยู่ตลอด การได้มีช่วงเวลาที่อยู่กับตัวเองจริง ๆ โดยไม่มีอะไรมารบกวน เปรียบเหมือนการชาร์จพลังให้เราพร้อมออกไปเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

--------


หลักสูตรการบริหารการตลาดดิจิทัล รุ่น 3 Mini MBA - Digital Marketing Management #2 มีทั้งหลักการดี ๆ ที่อัปเดตสดใหม่จากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ และการฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลอย่างเข้มข้น ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวได้ที่ https://www.neobycmmu.com/digital-marketing-mangement


แหล่งอ้างอิง







77 views0 comments

Comments


bottom of page